- Admin
- 25 SEPTEMBER 2023
สมรรถนะ (Competency) มีความสำคัญต่องาน HR อย่างไร
สมรรถนะ (Competency) มีความสำคัญต่องาน HR อย่างไร
สมรรถนะ
(Competency) หมายถึง
บุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายในปัจเจกบุคคล ซึ่งสามารถผลักดันให้ปัจเจกบุคคลนั้นสร้างผลการปฏิบัติงานที่ดีหรือตามเกณฑ์ที่กำหนดในงานที่ตนรับผิดชอบ
ในปัจจุบันมีการสรุปความที่ลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นโดยกล่าวว่า สมรรถนะ
(Competency) ก็คือ ความรู้ (Knowledge),
ทักษะ (Skill) ตลอดจน คุณลักษณะส่วนบุคคล (Personal Characteristic of Attributes) ที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม
(Behavior) ซึ่งจำเป็นและมีผลทำให้บุคคลนั้นปฏิบัติงานที่อยู่ในความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น
และเหนือผู้อื่น หรือเหนือกว่าเกณฑ์ รวมถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยสมรรถนะนั้นเกิดได้จาก
1.พรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด
2.ประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมา
3.การฝึกอบรมพัฒนาต่างๆ
สมรรถนะ (Competency) สามารถแบ่งออกตามประเภทต่างๆ
ได้แก่
1.ขีดความสามารถหลัก
(Core Competency) ขีดความสามารถชนิดนี้จะถูกกำหนดจากวิสัยทัศน์
พันธกิจ เป้าหมายหลัก หรือกลยุทธ์ขององค์การ
ซึ่งบุคคลจะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ความเชื่อ
และอุปนิสัยของคนในองค์การโดยรวม
พนักงานทุกคนในองค์การที่มีขีดความสามารถประเภทนี้ จะมีส่วนที่จะช่วยสนับสนุนให้องค์
การบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ได้ ยกตัวอย่าง เช่น
องค์กรกำหนดวิสัยทัศน์เอาไว้ว่าจะต้องเป็นองค์กรที่เป็นเลิศ
ในด้านการให้บริการทั้งในด้านจำหน่าย ระบบปฏิบัติการ ระบบบริการลูกค้า
ด้านการดูแลพนักงาน การเงิน
ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จะต้องหาวิธีดำเนินการจัดทำขีดความสามารถหลักของพนักงาน
เพื่อกำหนดให้พนักงานทุกคนขีดความสามารถหลัก
ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวข้างต้น เช่น
การพัฒนาพนักงานในด้านความใฝ่รู้และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง, พัฒนาในด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, ความมุ่งมั่นในการให้บริการให้ไปสู่ความเป็นเลิศ, ความเป็นเลิศในการให้บริการ, การทำงานเป็นทีม
เป็นต้น
2. ขีดความสามารถด้านการบริหาร
(Managerial Competency) คือความรู้ ความสามารถด้านการบริหารจัดการ
โดยจะแตกต่างกันตามบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบ (Role
– Based) ตามตำแหน่งทางการบริหาร งานที่รับผิดชอบ
ซึ่งบุคลากรในองค์กรทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อให้งานสำเร็จ
และต้องสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์การ เช่น
การวางแผนการทำงาน การกำหนดเป้าหมาย การบริหารการเปลี่ยนแปลง การทำงานเป็นทีม
การติดต่อสื่อสาร การแก้ปัญหาและตัดสินใจ ภาวะผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
3. ขีดความสามารถตามตำแหน่งหน้าที่
(Functional Competency) คือ ความรู้
ความสามารถในงานซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของงานต่าง ๆ (Job – Based) เป็นขีดความสามารถเฉพาะบุคคลซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้
ทักษะ พฤติกรรม และคุณลักษณะของบุคคลที่เกิดขึ้นจริงตามหน้าที่หรืองานที่รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย
แม้ว่าหน้าที่งานเหมือนกันไม่จำเป็นว่าคนที่ปฏิบัติงานในหน้าที่นั้นจะต้องมีความสามารถเหมือนกัน
เช่น ตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า ควรต้องมีความรู้ทางด้านวิศวกรรม นักบัญชี
ควรต้องมีความรู้ทางด้านการบัญชี เป็นต้น
4. ความสามารถที่มาจากคุณลักษณะส่วนบุคคล
(Personal attribute) เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับลักษณะส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคล
เช่น แรงจูงใจ ทัศนคติ
ที่อาจส่งผลกระทบต่อทัศนคติต่อการทำงานและประสิทธิภาพการทำงาน
การพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของบุคลากร
เป็นหนึ่งในภาระกิจสำคัญที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยสำคัญรวมถึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับองค์กรอื่นๆ
ตลอดจนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ด้วยนั่นเอง